ชุดไทย

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

ประวัติละครไทย





ในด้านประวัติความเป็นมาของนาฏศิลป์และการละครของไทยนั้น ปรากฏหลักฐานตั้งแต่ครั้งก่อนสมัยสุโขทัย (น่านเจ้า) ซึ่งในสมัยนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการแสดงละคร แต่มีหลักฐานที่แสดงว่ามีการแสดงที่เป็นระบำ เมื่อเข้าสู่สมัยสุโขทัยได้พบข้อความจารึกในหลักศิลาที่ ๑ ที่แสดงให้เห็นว่าสมัยนี้มีการแสดงและการละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และการละครไทยเริ่มปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังจะเห็นได้จากหลักฐานสำคัญคือจดหมายเหตุของเมอร์สิเออร์ เดอลาลูแบร์ ราชฑูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้กล่าวถึงการแสดงของไทยในราชสำนักว่ามีสามอย่างคือ โขน ละคร และระบำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นาฏศิลป์และการละครไทยมีความเจริญสูงสุด ทั้งนี้เนื่องจากบ้านเมืองมีความสงบสุข
ครั้นเข้าสู่สมัยกรุงธนบุรีนาฏศิลป์และการละครไทยอยู่ในช่วงการทำนุบำรุงฟื้นฟูเนื่องมาจากภัยสงครามไทยกับพม่า เมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์นาฏศิลป์และการละครไทยได้รับการส่งเสริมทำนุบำรุง และอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเกือบทุกพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖** ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองแห่งการละครไทย เหตุเพราะรัชกาลที่ ๖ ทรงให้การสนับสนุน และยังทรงเป็นศิลปินที่ทรงพระปรีชาสามารถในด้านนาฏศิลป์และการละครไทยเป็นอย่างมาก
จากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ และได้สร้างพระราชวังสนามจันทร์นั้น ส่งผลให้เมืองนครปฐมมีความเจริญรุ่งเรืองมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น และเปลี่ยนฐานะจากหัวเมืองธรรมดาเป็นเมืองที่มีความสำคัญระดับประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เนื่องจากเมืองนครปฐมเป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์เสด็จมาประทับประกอบพระราชกรณียกิจหลาย ๆ ด้าน จึงส่งผลให้บ้านเมืองเจริญอย่างรวดเร็ว รวมถึงด้านนาฏศิลป์การละครด้วย ดังจะเห็นได้จากการสร้างพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ไว้สำหรับออกว่าราชการและฝึกซ้อมโขนละคร นาฏศิลป์และการละครที่เฟื่องฟูในยุคสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น ไม่ได้มีแต่ในพระราชวังสนามจันทร์เท่านั้น ในจังหวัดนครปฐมยังมีศิลปะการแสดงพื้นบ้านต่างๆ อีกมากมายที่มีมาพร้อมๆ กับความเจริญของบ้านเมือง เช่น โขน ละคร ลิเก ลำตัด งิ้ว ละครชาตรี เพลงเกี่ยวข้าว เพลงปรบไก่ เพลงฉ่อย รำกลองยาว รำแคน ฯลฯ
ละครชาตรี ละครนอก (ชาวบ้านเรียกว่า "ละครรำ") เป็นศิลปะการแสดงอีกแขนงหนึ่งที่มีอยู่ในจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีความผูกพันกับวิถีชิวิตของคนในจังหวัดนครปฐมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านความบันเทิง ความเชื่อ ความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์ ตลอดจนการกล่อมเกลาจิตใจ ปัจจุบันศิลปะการแสดงละคร ยังมีให้เห็นอยู่ในสังคมของคนในจังหวัดนครปฐม ซึ่งถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์แขนงหนึ่งของนครปฐม และของชาติไทย






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น